ความรอบรู้ด้านยาปฏิชีวนะ
  
คำแปล

คำนาม. ความสามารถที่จะเข้าใจและนำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา และเพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและคนใกล้ตัว

 

“มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ทำแบบสอบถามโดยองค์การอนามัยโลก ทราบว่ายาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ก็ยังคงรับประทานยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องอยู่ดี เพราะเชื่อผิดๆ ว่า “กินเผื่อไว้ก่อน”[1]

 

“การเพิ่มขึ้นของเชื้อดื้อยา และการขาดความรอบรู้ด้านยาปฏิชีวนะ ทำให้ปัญหาของเชื้อดื้อยารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ”[2]

คลังการเรียนรู้

การขาดความรอบรู้ด้านยาปฏิชีวนะ (Inadequate antibiotic literacy) ทำให้ปัญหาของเชื้อดื้อยารุนแรงขึ้น

 

คนส่วนใหญ่มักเคยใช้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะยังมีความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา

 

องค์การอนามัยโลกได้มีการทำแบบสอบถามกับผู้คน 10,000 คน ใน 12 ประเทศ และพบว่า ‘ความรอบรู้ด้านยาปฏิชีวนะ’ ของสองในสามของผู้ตอบแบบสอบถามนั้นอยู่ในระดับต่ำ[1] หนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเข้าใจผิดๆ ว่า ยาปฏิชีวนะสามารถหยุดใช้ได้เมื่ออาการดีขึ้น โดยไม่ต้องรับประทานให้ครบตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ สามในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่ออย่างผิดๆ ว่าการดื้อยาปฏิชีวนะนั้นคือการที่ร่างกายของตนเองต่อต้านยาปฏิชีวนะ[1]

 

ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดอื่นๆ ต่อเนื่อง เช่น การดื้อยาเกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่รับประทานยาปฏิชีวนะเป็นประจำ[2] ผู้คนจึงมักจะเมินเฉยต่อปัญหาเชื้อดื้อยา ในความเป็นจริงแล้ว แบคทีเรียในร่างกายเราต่างหากที่กลายเป็นเชื้อดื้อยาได้ และเชื้อดื้อยานั้นสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง จากคนสู่สิ่งแวดล้อม และจากสิ่งแวดล้อมสู่คนได้ ดังนั้นแปลว่าแม้ว่าคุณจะไม่ได้ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำ คุณก็มีโอกาสติดเชื้อดื้อยาได้

 

ความรอบรู้ (literacy) โดยปกติจะรวมทั้งระดับของความรู้และพฤติกรรมในการนำข้อมูลไปใช้อย่างถูกต้อง เพราะในความเป็นจริง มีคนจำนวนมากที่มีความรู้เพียงพอแต่ไม่นำไปใช้ ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ ทั้งความเชื่อ วัฒนธรรม และปัจจัยทางสังคม เพื่อเป็นการเริ่มต้น  แบบสอบถามด้านล่างครอบคลุมเฉพาะส่วนของความรู้ก่อน ... คุณอยากรู้หรือไม่ว่าคุณมีระดับความรู้เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาแค่ไหน?

 

คุณควรที่จะเข้าใจยาปฏิชีวนะที่คุณกำลังจะรับประทานอย่างเพียงพอ เพื่อที่คุณจะได้เข้าใจถึงฤทธิ์ของยา รวมทั้งผลข้างเคียง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานยานั้น ทั้งผลกระทบโดยตรงกับตัวของคุณเอง และผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นกับคนที่คุณรักและครอบครัวของคุณ เพราะเชื้อดื้อยาสามารถส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและทุกคนในสังคมบนโลกใบนี้

 

แบบทดสอบ: คุณมีระดับความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาแค่ไหน?

 

1. ยาปฎิชีวนะสามารถรักษาไข้หวัดธรรมดาได้ [ถูก หรือ ผิด]

 

2. การดื้อยาปฏิชีวนะคือการที่ร่างกายของเราดื้อต่อยาปฏิชีวนะ [ถูก หรือ ผิด]

 

3. การใช้ยาปฏิชีวนะในคนสามารถทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ [ถูก หรือ ผิด]

 

4. การใช้ยาปฏิชีวนะทุกครั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะได้ [ถูก หรือ ผิด]

 

5. การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์สามารถทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ [ถูก หรือ ผิด]

 

6. เราสามารถติดเชื้อดื้อยาได้จากการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อดื้อยา     [ถูก หรือ ผิด]

 

7. เราสามารถติดเชื้อดื้อยาได้จากการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ที่มีเชื้อดื้อยา และจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อดื้อยาปนเปื้อน [ถูก หรือ ผิด]

 

8. การฉีดวัคซีนตามคำแนะนำและการรักษาความสะอาดของตัวเรา ช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาได้ [ถูก หรือ ผิด]

 

 

 

 

คำตอบที่ถูกต้อง

 

1. ผิด. ไข้หวัดธรรมดาเกิดจากไวรัส ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดจากไวรัสได้ และไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น

 

2. ผิด. การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ทำให้ร่างกายของคนดื้อยาปฏิชีวนะ แต่แบคทีเรียในร่างกายเราจะเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยานั้นสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้

 

3. ถูก. การใช้ยาปฏิชีวนะในคนทั้งอย่างสมเหตุสมผล และอย่างไม่ถูกต้อง จะกระตุ้นให้เกิดเชื้อดื้อยามากขึ้น ดังนั้นเราควรลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องลงให้น้อยที่สุด

 

4. ถูก. การใช้ยาปฏิชีวนะทุกครั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงได้ การไม่มีผลข้างเคียงในอดีต ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่เกิดผลข้างเคียงจากยาตัวเดิมในอนาคต การทานยาปฏิชีวนะทุกครั้งมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงเช่น ท้องเสีย และแพ้ได้เสมอ การทานยาปฏิชีวนะจะทำลายแบคทีเรียดีๆ ในร่างกาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อราได้มากขึ้น ทำให้เกิดเชื้อดื้อยามากขึ้น และมีความเสี่ยงติดเชื้อดื้อยามากขึ้น ดังนั้นเราควรทานยาปฏิชีวนะเมื่อจำเป็นเท่านั้น หรือก็คือเมื่อได้รับการตรวจยืนยันว่าเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย

 

5. ถูก.  การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ในเกษตรกรรม ทั้งอย่างสมเหตุสมผล และอย่างไม่ถูกต้อง จะกระตุ้นให้เกิดเชื้อดื้อยามากขึ้น ดังนั้นเราควรลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องลงให้น้อยที่สุด

 

6. ถูก. เชื้อดื้อยาสามารถติดจากอีกคนสู่คนได้ ทั้งทางตรงผ่านทางการสัมผัส และทางอ้อมผ่านทางสิ่งแวดล้อม

 

7. ถูก. เชื้อดื้อยาสามารถติดจากสัตว์สู่คนได้ ทั้งทางตรงผ่านทางการสัมผัส การรับประทาน และทางอ้อมผ่านทางสิ่งแวดล้อม

 

8. ถูก. การลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายได้

 

 

คุณควรที่จะเข้าใจยาปฏิชีวนะที่คุณกำลังจะรับประทานอย่างเพียงพอ เพื่อที่คุณจะได้เข้าใจถึงฤทธิ์ของยา รวมทั้งผลข้างเคียง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานยานั้น ทั้งผลกระทบโดยตรงกับตัวของคุณเอง และผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นกับคนที่คุณรักและครอบครัวของคุณ เพราะเชื้อดื้อยาสามารถส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและทุกคนในสังคมบนโลกใบนี้

 

เอกสารอ้างอิง

1 WHO. (n.d.). Antibiotic Resistance: Multi-Country Public Awareness Survey. www.who.int. ISBN 978 92 4 150981 7

2 Ramsey, L. (2017, February 23). A growing threat could kill 10 million people a year by 2050. Retrieved from https://www.businessinsider.com/biggest-misconception-about-antibiotic-resistance-2017-2

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่