การดื้อยาต้านจุลชีพ
  
คำแปล

คำนาม. ความสามารถของจุลชีพ เช่น แบคทีเรีย, ไวรัส, เชื้อรา และปรสิต ในการต่อต้านหรือหยุดยั้งประสิทธิภาพของยาต้านจุลชีพต่างๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาต้านไวรัส, ยาต้านเชื้อรา, และ ยาต้านปรสิต (AMR=antimicrobial resistance)

 

“แบคทีเรียที่ก่อโรคและมีความสามารถในการดื้อยาต้านจุลชีพที่ใช้กันทั่วไปมักถูกเรียกว่า ‘เชื้อดื้อยา’ และถ้าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคดื้อต่อยาต้านจุลชีพหลายชนิด เชื้อนั้นมักถูกเรียกว่า ‘ซูเปอร์บั๊ก (superbugs)’”

 

“การดื้อยาต้านจุลชีพ ทำให้ยาต้านจุลชีพ ยาปฏิชีวนะ ไม่สามารถฆ่าเชื้อเหล่านั้นได้ และเชื้อดื้อยาเหล่านั้นสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน คนสู่สิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมสู่คน ทำให้เกิดการติดเชื้อดื้อยาซึ่งทำให้ตัวท่านหรือคนใกล้ตัวท่านเสียชีวิตได้”

 

“ในทุกๆ ปี มีคนมากกว่า 700,000 คนทั่วโลกตายเพราะการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ”[1]

 

“การดื้อยาต้านจุลชีพนั้น สิ่งที่ดื้อต่อยาคือเชื้อโรค ไม่ใช่ร่างกายเราที่ดื้อต่อยา และเชื้อที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพเหล่านั้นสามารถแพร่กระจายได้”

คลังการเรียนรู้

การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาระดับโลก

 

ยาปฏิชีวนะ (ที่มักถูกเรียกผิดๆว่า ‘ยาแก้อักเสบ’) และยาต้านจุลชีพอื่นๆ หลายชนิดมีประสิทธิภาพลดลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มจะใช้ไม่ได้ผลในการรักษาการติดเชื้อนั้นๆ เนื่องจากอัตราการเกิด และความถี่ของการพบเชื้อดื้อยานั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ[2][3] ซึ่งการพบเชื้อดื้อยาที่มากขึ้นเรื่อยๆ นั้นนำมาซึ่งปัญหากับทุกคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน และการติดเชื้อดื้อยานั้นนำมาซึ่งอัตราการตายที่สูงขึ้น

 

ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 700,000 คน/ปี หากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คาดว่าในปี พ.ศ. 2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน[1] ถ้าเรายังไม่ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา การเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น การโดนมีดบาด ท้องเสีย ท้องร่วง อาจทำให้ถึงตายได้ง่ายๆ ซึ่งนั่นเหมือนกับในอดีตก่อนที่จะมีการคิดค้นยาปฏิชีวนะ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด แม่ที่ให้กำเนิดบุตร ทุกคนจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อแทรกซ้อน[2] การไม่รักษาความสะอาด การใช้ชีวิตไม่ถูกสุขลักษณะ การไม่ป้องกันการติดเชื้อ และการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของเชื้อดื้อยา

 

การใช้ยาปฏิชีวะอย่างไม่ถูกต้องนั้นเกิดขึ้นทั้งในคนและในสัตว์[1] เช่น โรคหวัดในคนนั้นเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลกที่รับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นเมื่อเป็นหวัด ยาปฏิชีวนะถูกใช้ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อคาดหวังให้สัตว์เติบโตได้ดีและป้องกันการติดเชื้อซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรค และแนะนำไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นโรค เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องในสัตว์

 

สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การดื้อยาต้านจุลชีพ” ได้ที่

แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 – (ผลิตโดย กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา วันที่ 08/28/2559)

   เชื้อดื้อยา หายนะของมนุษย์ทั้งโลก 

เชื้อดื้อยา หายนะของมนุษย์ทั้งโลก (ผลิตโดย HSRI วันที่ 10/30/2558)

 

 

เอกสารอ้างอิง

1  O'Neill, J. (2016, March 19). Tackling Drug-Resistant Infections Globally: Final Report and Recommendations. The Review on Antimicrobial Resistance. Retrieved from https://amr-review.org/sites/default/files/160525_Final paper_with cover.pdf

2 WHO. (2018, February 15). Antimicrobial resistance. Retrieved from https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/antimicrobial-resistance

3 CDC. (2018, September 10). About Antimicrobial Resistance | Antibiotic/Antimicrobial Resistance | CDC. Retrieved from https://www.cdc.gov/drugresistance/about.html

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่