จุลชีพ
  
คำใกล้เคียง
เชื้อโรค, จุลินทรีย์
คำแปล

คำนาม. สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ ในการมองเห็น

 

“ไม่ว่าคุณจะชำระล้างทำความสะอาดเพียงใด แทบทุกซอกทุกมุมของร่างกายคุณถูกปกคลุมไปด้วยจุลชีพหรือจุลินทรีย์ ซึ่งมีทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา โดยแหล่งที่มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่มากที่สุดในร่างกายเราก็คือลำไส้”[1]

 

“กรมอนามัย แนะซื้อน้ำแข็งผ่านมาตรฐาน ลดเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อจุลชีพ”

 

“ปศุสัตว์ผลักดันการเลี้ยงสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะ โดยหวังว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพ และได้ตั้งเป้าลดการตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้งในสัตว์ ในสิ่งแวดล้อม และในเนื้อสัตว์สำหรับผู้บริโภค”[2]

 

คำใกล้เคียง

 

จุลินทรีย์

คำนาม. คำเหมือนของคำว่า จุลชีพ

 

เชื้อโรค

คำนาม. จุลชีพที่ก่อโรค

คลังการเรียนรู้

จุลชีพ = แบคทีเรีย + ไวรัส + เชื้อรา + ปรสิต

 

จุลชีพ หรือ สิ่งมีชีวิต (ยกเว้นไวรัส) ขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สามารถแบ่งได้หลักๆเป็น 4 ชนิด ประกอบไปด้วย แบคทีเรีย, ไวรัส, เชื้อรา และ ปรสิต

 

เชื้อราเป็นจุลชีพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีองค์ประกอบของเซลล์ครบถ้วน แบคทีเรียจะเล็กกว่าเชื้อรา และไม่มีนิวเคลียส ไวรัสจะเล็กที่สุด ไม่มีผนังเซลล์ ไม่จัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิต ไวรัสสามารถที่จะแบ่งตัวได้ในร่างกายหรือเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่นเท่านั้น ส่วนปรสิตที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าและก่อโรคที่พบบ่อยคือ เชื้อมาลาเรีย ซึ่งสามารถหลบซ่อนอยู่ในร่างกายคน แบ่งตัวในเซลล์เม็ดเลือดแดง และแพร่จากคนสู่คนผ่านทางยุงได้

 

เห็ดนั้นก็จัดเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง พยาธิขนาดใหญ่ เช่น พยาธิใบไม้ในตับ และพยาธิตัวตืดก็จัดเป็นปรสิตชนิดหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เห็ดและพยาธิขนาดใหญ่มีจำนวนเซลล์มาก และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจึงไม่เรียกว่าจุลชีพ

 

จุลชีพมีอยู่ในตัวเรา รอบตัวเรา และในสิ่งแวดล้อมเป็นปริมาณมาก เช่น ในดิน 1 กรัม จะมีแบคทีเรียอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านตัว (10,000,000,000 = 1 หมื่นล้าน หรือ 1010)[3] ในขณะที่ในร่างกายคนเรา คาดว่ามีแบคทีเรียอาศัยอยู่ประมาณ 39 ล้านล้านตัว (39,000,000,000,000)[4]

 

จุลชีพทุกชนิดสามารถดื้อต่อยาต้านจุลชีพที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อนั้นๆ ได้ เช่น เชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เชื้อไวรัสดื้อต่อยาต้านไวรัส เชื้อราดื้อต่อยาต้านเชื้อรา เชื้อมาลาเรียดื้อต่อยาต้านมาลาเรีย ความสามารถนี้ของจุลชีพเรียกว่า “การดื้อยาต้านจุลชีพ”

 

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้น และแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาชนิดต่างๆ เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะนั้นสามารถแพร่จากคนสู่คน คนสู่สัตว์ สัตว์สู่คน ทั้งจากคนและสัตว์สู่สิ่งแวดล้อม และจากสิ่งแวดล้อมสู่คน ทำให้เกิดการติดเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสำคัญของโลก[5]

 

 

สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “จุลชีพ” ได้ที่

 

พบกับจุลชีพในบ้านและบนใบหน้าของคุณ (ภาษาอังกฤษ บรรยายไทย) (ผลิตโดย TED วันที่ 04/01/2560)

 

จุลินทรีย์ของเราทำให้เราเป็นตัวตนของเรา ได้อย่างไร (ภาษาอังกฤษ บรรยายไทย) (ผลิตโดย TED วันที่ 02/01/2557)

 

 

เอกสารอ้างอิง

1 BBC. (2018, April 21). กว่าครึ่งหนึ่งของร่างกายคนเราไม่ใช่มนุษย์ - BBC News บีบีซีไทย. Retrieved from https://www.bbc.com/thai/features-43849650

2 CH7 News. (2018, September 9). สนามข่าวจับประเด็น : ปศุสัตว์ผลักดันเลี้ยงสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะ. Retrieved from http://news.ch7.com/detail/302502

3 Ingham, E. R. (2019). Chapter 3: Bacteria. In Soil Biology. Retrieved from https://extension.illinois.edu/soil/SoilBiology/bacteria.htm.

4 Sender, R., Fuchs, S., & Milo, R. (2016). Revised Estimates for the Number of Human and Bacteria Cells in the Body. PLOS Biology,14(8). doi:10.1371/journal.pbio.1002533

5 WHO. (2015). Global Action Plan on Antimicrobial Resistance. Geneva, Switzerland: WHO Document Production Services. ISBN: 978 92 4 150976 3

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่