ยาปฏิชีวนะ
  
คำแปล

คำนาม. ยาที่มีฤทธิฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (ตัวอย่างเช่น เพนิซิลลิน) คนไทยมักเรียกยาปฏิชีวนะว่า “ยาแก้อักเสบ” “ยาฆ่าเชื้อ” หรือ “ยาต้านแบคทีเรีย”

 

“คุณหมอบอกฉันว่า ฉันเป็นหวัด ฉันไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะสามารถรักษาได้เฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น”

 

“ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ การรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อเป็นหวัดไม่ได้ทำให้เราหายเร็วขึ้น แต่ทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงของยามากขึ้น และทำให้เราและคนรอบๆ ตัวเรามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อดื้อยาสูงขึ้น”

คลังการเรียนรู้

ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ

 

แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มักเรียกยาปฏิชีวนะว่า “ยาแก้อักเสบ” “ยาฆ่าเชื้อ” หรือ “ยาต้านแบคทีเรีย” ร้านขายยาและคนทั่วไปก็มักจะเข้าใจว่าคนๆ นั้นต้องการยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนนิซิลลิน อะม๊อกซี่ซิลลิน) แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความแตกต่างที่แท้จริงของยาปฏิชีวนะ และยาแก้อักเสบ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องเป็นประจำ[1]

 

ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนนิซิลลิน อะม๊อกซี่ซิลลิน) ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด หรือลดไข้ ควรใช้เฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง

 

ยาแก้อักเสบ (เช่น แอสไพริน บรูเฟน© พอนสแตน© ) มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดง ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้เฉพาะกรณีที่มีการอักเสบในร่างกาย[2] หมายเหตุ การอักเสบอาจเกิดจากโรคติดเชื้อหรือโรคไม่ติดเชื้อ (เช่น ข้อเสื่อม ปวดท้องประจำเดือน) ก็ได้ หลายคนคิดว่าการเป็นหวัดเจ็บคอ แล้วต้องกินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ จริงๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะโรคหวัดเกิดจาก “เชื้อไวรัส” และยาปฏิชีวนะใช้ฆ่า “เชื้อแบคทีเรีย” ได้เท่านั้น ดังนั้นการกินยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคหวัด หรืออาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสจึงไม่ถูกต้อง แถมยังทำให้เปลืองเงิน เสี่ยงต่อการแพ้ยา และก่อปัญหาเชื้อดื้อยาด้วย[1]

 

กรณีมีแผลเลือดออกและเป็นแผลสะอาด ควรทำแผลอย่างเหมาะสม การรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น การรักษาความสะอาดของแผลให้ดี ก็เพียงพอที่จะทำให้แผลหายได้ หากแผลบวมแดงอักเสบ ให้รีบปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ทันที[1]

 

กรณีท้องเสีย อาการท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียพบน้อยมาก (น้อยกว่า 5 ใน 100 ราย) และเกือบทั้งหมดหายได้เองแม้ไม่ได้กินยาปฏิชีวนะ การกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งที่ท้องเสียจึงเปลืองเงิน เสี่ยงต่อการแพ้ยาและก่อปัญหาเชื้อดื้อยาด้วย นอกจากนี้ ยาปฏิชีวนะยังอาจทำให้เชื้อแบคมีเรียบางชนิดที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย อยู่ในลำไส้ได้นานขึ้นอีกด้วย[1] คุณควรรับประทานยาปฏิชีวนะก็ต่อเมื่อคุณได้รับการวินิจฉัยและตรวจยืนยันจากบุคลากรทางการแพทย์ว่าเป็นการติดเชื้อท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรียที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเท่านั้น

 

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าเรากำลังถอยหลังกลับไปสู่ยุคก่อนสงครามโลกที่จะมีคนเสียชีวิตจำนวนมากจากการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วๆ ไป ท่านกล่าวว่า “จากแนวโน้มในปัจุบัน โรคทั่วๆ ไป แม้กระทั่งโรคหนองใน ก็เริ่มจะทำการรักษาได้ยากขึ้น ในอนาคตแพทย์อาจจะต้องตอบกับคนไข้ว่า ‘ขอโทษค่ะ เราไม่มีอะไรยาที่จะใช้รักษาคุณได้เลย’”[3]

 

ยาปฏิชีวนะที่ยังมีฤทธิ์กับเชื้อดื้อยา หลายตัวมีราคาแพงมาก และหลายตัวก็เป็นโทษด้วย นอกจากนี้ การใช้ยาหลายชนิดในคราวเดียวเพื่อรักษาการติดเชื้อดื้อยาก็มักไม่ได้ผล เชื้อดื้อยายังสามารถแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมากในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) และการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดๆ ในประชาชนทั่วไป

 

องค์การอนามัยโลกได้เตือนมาเป็นเวลานานแล้ว เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้มีการเพิ่มของแบคทีเรียดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่เราควรจะกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื้อดื้อยากระทบถึงเราและครอบครัวของเรา ตัวอย่างสำคัญคือ การให้กำเนิดบุตรในยุคของเชื้อดื้อยา จะทำให้มารดาและบุตรมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อแทรกซ้อนสูงมาก

 
 

สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ยาปฏิชีวนะ” ได้ที่

ตอนที่ 3 เรื่อง ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ (ผลิตโดย FDA Thai วันที่ 06/30/2558)
Title here

ความเข้าใจผิดและความสับสนยาแก้อักเสบ vs. ยาปฏิชีวนะ (ผลิตโดย Voice TV วันที่ 11/11/2557)

 

ไม่ควรเรียกยาปฏิชีวนะว่า “ยาแก้อักเสบ” (เปิดบ้านพีบีเอส) (ผลิตโดย กพย. วันที่ 05/19/2557)

 

เอกสารอ้างอิง

1 Jutrakul, P. (2018, January 24). ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ!!! - Thaihealth.or.th | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). Retrieved from http://www.thaihealth.or.th/Content/40467-ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ!!!.html

2  Thitima. (2014, November 11). ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ. Retrieved from https://www.hsri.or.th/people/media/infographic/detail/5914

3 WHO. (2016, August 29). Birth in a time of antibiotic-resistant bacteria. Retrieved from https://www.who.int/mediacentre/commentaries/antibiotic-resistant-bacteria/en/

 

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่