โรคติดเชื้อในชุมชน
  
คำแปล

คำนาม. โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล กล่าวคือเป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในชุมชนหรือในประชากรทั่วไป เชื้อก่อโรคเป็นเชื้อที่พบได้ในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมในชุมชน

 

“โรคติดเชื้อสามารถแบ่งหลักๆได้เป็นโรคติดเชื้อในชุมชน และโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล การจัดหมวดหมู่นี้เพื่อช่วยระบุว่าเชื้อก่อโรคนั้นมาจากแหล่งใด และช่วยในการวางแผนป้องกันการติดเชื้อได้”

 

“การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในคน สัตว์ อาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อดื้อยาในชุมชนเพิ่มขึ้น.”

 

“ถ้าคุณเป็นโรคติดเชื้อ โดยที่คุณไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายในช่วง 30 วันที่ผ่านมา และคุณไม่มีข้อบ่งชี้อื่นๆ โรคติดเชื้อนี้สามารถถือได้ว่าเป็นโรคติดเชื้อในชุมชน”

คลังการเรียนรู้

เหตุใดเราจึงต้องแยกโรคติดเชื้อในชุมชนออกจากโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล?

 

เราจำเป็นต้องแยกโรคติดเชื้อ ออกเป็นโรคติดเชื้อในชุมชนและโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเพราะการป้องกันควบคุมและแก้ไขเชื้อดื้อยาในชุมชนและในโรงพยาบาลนั้นมีวิธีที่แตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการควบคุมแก้ไข และการตรวจสอบประสิทธิภาพของการลดการติดเชื้อดื้อยาทั้งในชุมชนและโรงพยาบาล

 

ยกตัวอย่างเช่นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องในชุมชนกำลังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในชุมชน การไม่ล้างมือ การมีปริมาณยาปฎิชีวนะสูงในน้ำเสีย และการจัดการน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ผู้คนในชุมชนมีการสัมผัสกับยาที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงในการเกิดเชื้อดื้อยา ในทำนองเดียวกันการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องในโรงพยาบาลก็กำลังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล การที่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ ไม่ล้างมืออย่างถูกต้องก็ทำให้เกิดความเสี่ยงของการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลสูงขึ้น

 

ถ้าต้องการลดการติดเชื้อดื้อยาในชุมชน การกำกับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะและการควบคุมสุขอนามัยจะต้องมุ่งเน้นไปที่ชุมชนและประชากรทั่วไป ในทางตรงกันข้ามถ้าต้องการลดการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลการกำกับดูแลยาปฏิชีวนะ และการควบคุมสุขอนามัยจะต้องมุ่งเน้นไปที่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ญาติและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล

 

ดังนั้นการรณรงค์ลดการติดเชื้อดื้อยาต้องทำทั้งในชุมชนและในโรงพยาบาล

 

แพทย์สามารถระบุว่าผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในชุมชนหรือโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลโดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียดเพื่อการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม หลักการทั่วไปที่สามารถใช้ได้คือ ถ้าตรวจพบเชื้อก่อโรคจากสิ่งส่งตรวจ เช่นเลือดและปัสสาวะ ที่มาจากผู้ป่วยภายในระยะเวลา 2 วันแรกที่เข้ามานอนโรงพยาบาล การติดเชื้อเหล่านี้ควรจัดเป็นเป็นการติดเชื้อจากชุมชน[1]

 

 

เอกสารอ้างอิง

1 WHO. (2017). Global Antimicrobial Resistance Surveillance System (GLASS) Report Early implementation 2016-17. ISBN 978-92-4-151344-9

 

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่