การดื้อยาปฏิชีวนะ
  
คำแปล

คำนาม. ความสามารถของเชื้อแบคทีเรียในการยับยั้งฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะชนิดใดชนิดหนึ่ง (หรือมากกว่าหนึ่งชนิด) ในการออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

 

“การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกต้อง และการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินความจำเป็น สามารถนำไปสู่การดื้อยาปฏิชีวนะ”

 

“การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งอย่างเหมาะสมตามใบสั่งแพทย์ และอย่างไม่เหมาะสม สามารถกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะได้ อย่างไรก็ตาม การดื้อยาปฏิชีวนะที่เพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุหลัก”

คลังการเรียนรู้

อะไรคือสาเหตุที่ก่อให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะ

 

การดื้อยาปฏิชีวนะบางชนิดเกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติ ทั้งนี้เป็นเพราะยาปฏิชีวนะบางชนิด (เช่น เพนนิซิลิน) มีต้นกำเนิดมาจากเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ซึ่งสามารถพบได้ตามธรรมชาติ เชื้อจุลินทรีย์ (รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อปรสิต และเชื้อรา) จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดตลอดเวลา และนำไปสู่การมีคุณสมบัติในการยับยั้งการออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะเมื่อมียาปฏิชีวนะจำนวนมากในสิ่งแวดล้อม และอาจปรับตัวกลับมาเป็นปกติเมื่อไม่มีปริมาณยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม โดยปกติแล้ว ระดับของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อมมีปริมาณต่ำมาก และเชื้อส่วนใหญ่ไม่ดื้อต่อยา ดังเช่นในช่วง พ.ศ. 2470 (ช่วงที่เริ่มมีการนำยาเพนนิซิลินออกใช้ในครั้งแรก) การติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะนั้นพบได้น้อยมาก 

 

การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปและการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้มีการเพิ่มขึ้นและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาออกไปทั่วโลก มีการคาดการณ์กันว่า ในแต่ละปีมีการผลิตและใช้ยาปฏิชีวนะทั่วโลกเป็นจำนวนมากถึง 200,000 ถึง 250,000 ตัน[1][2] ในจำนวนนี้ ยาปฏิชีวนะร้อยละ 70 ถูกใช้ในสัตว์ และร้อยละ 30 เป็นการใช้ในมนุษย์

 

ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์และสัตว์จะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แม้ว่าจะเข้าสู่ระบบการบำบัดของเสีย แต่ยังเกิดการปนเปื้อนออกไปในสิ่งแวดล้อม เมื่อเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้พบเจอกับยาปฏิชีวนะก็สามารถก่อให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะได้ เชื้อดื้อยาเหล่านี้สามารถแพร่กระจาย และก่อโรคในคนอื่นๆ ได้[2][3]

 

ผู้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียควรต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้มีการติดเชื้อแบคทีเรียไม่มีความจำเป็นจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ผู้ซึ่งค้นพบเพนนิซิลิน ทำนายถึงปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะตั้งแต่เมื่อครั้งที่ค้นพบเพนนิซิลินและได้กล่าวไว้ว่า:

 

“ผู้ที่ใช้ยาเพนนิซิลินในการรักษาอย่างไม่รอบคอบ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียของผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อดื้อยาเพนนิซิลิน”

 

ในปัจจุบันเพนนิซิลินใช้สำหรับการติดเชื้อทั่วไปทั้งในมนุษย์และสัตว์ได้น้อยลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากเชื้อก่อโรคที่พบบ่อยนั้นดื้อต่อยาเพนนิซิลิน

 

ในปัจจุบันยาปฏิชีวนะหลากหลายชนิดถูกคิดค้น และนำมาใช้แทนที่เพนนิซิลิน อย่างไรก็ดีได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ในทุกๆ ปี มีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาจำนวนกว่า 700,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาอาจจะเพิ่มสูงถึง 10,000,000 คนในปี พ.ศ. 2593[2] และเราไม่ได้เห็นยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่มาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ดังนั้นเรามีความจำเป็นต้องมีการรณรงค์ให้คนทั่วไป ตระหนักถึงปัญหาของเชื้อดื้อยาอย่างเร่งด่วน[1]

 

 

สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การดื้อยาปฏิชีวนะ” ได้ที่

ผวา!เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะทำคนตายทุก 3 วินาทีในปี 50 (ผลิตโดย TNN ช่อง 16 วันที่ 05/19/2559)

ผวา!เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะทำคนตายทุก 3 วินาทีในปี 50

เชื้อดื้อยาติดต่อถึงกันได้ (ผลิตโดย GPO Channel วันที่ 12/08/2559)


 Consumer Channel – แนะวิธีป้องกันตัว ปลอดภัยจากเชื้อดื้อยา (ผลิตโดย WAY DOC.umentary วันที่ 07/13/2559)

 

เอกสารอ้างอิง

1 O'Neill, J. (2016, March 19). Tackling Drug-Resistant Infections Globally: Final Report and Recommendations. The Review on Antimicrobial Resistance. Retrieved from https://amr-review.org/sites/default/files/160525_Final paper_with cover.pdf

2 Sarmah, A. K., Meyer, M. T., & Boxall, A. B. (2006). A global perspective on the use, sales, exposure pathways, occurrence, fate and effects of veterinary antibiotics (VAs) in the environment. Chemosphere,65(5), 725-759. doi:10.1016/j.chemosphere.2006.03.026

Boeckel, T. P., Brower, C., Gilbert, M., Grenfell, B. T., Levin, S. A., Robinson, T. P., . . . Laxminarayan, R. (2015). Global trends in antimicrobial use in food animals. Proceedings of the National Academy of Sciences,112(18), 5649-5654. doi:10.1073/pnas.1503141112

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่