ยาปฏิชีวนะถูกป้อนให้กับสัตว์ในฟาร์มทั้ง วัวหมูไก่ปลาและกุ้ง ทั่วโลกทุกวัน[3] เกษตรกรอาจใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อหวังผลให้สัตว์โตไว ป้องกันโรค หรือรักษาโรค การใช้ยาปฏิชีวนะในการส่งเสริมการเจริญเติบโตนั้น กำลังกลายเป็นสิ่งต้องห้ามมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และองค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศแนะนำไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันโรคในสัตว์ที่แข็งแรงดี
การรณรงค์ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์นั้นยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ ปริมาณยาปฏิชีวนะทั้งหมดที่ใช้ในปศุสัตว์นั้นกลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และอาจกำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการในการปริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะราว 200,000 ถึง 250,000 ตันซึ่งถูกผลิตและบริโภคทั่วโลกในแต่ละปี[4] โดยประมาณร้อยละ 70 ของยาปฏิชีวนะถูกนำไปใช้ในสัตว์ และเพียงร้อยละ 30 ใช้ในมนุษย์
ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ที่ใช้ในมนุษย์และสัตว์จะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ และเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งยังไม่สามารถขจัดยาตกค้างออกจากน้ำทิ้งได้ทั้งหมด จึงปนเปื้อนลงในสิ่งแวดล้อม แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในมนุษย์และสัตว์ และแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมสามารถพัฒนาไปเป็นเชื้อดื้อยา และเชื้อดื้อยาเหล่านี้ยังสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นทำให้เกิดการติดเชื้อดื้อยาและเสียชีวิตได้อีกด้วย (รูปที่1)

รูปที่ 1: อาหารปลอดภัย ไร้ยาปฏิชีวนะ [5]
การบริโภคเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่มีมาตรฐานนั้นปลอดภัย แม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง เนื่องด้วยในฟาร์มที่มีมาตรฐานนั้น สัตว์จะไม่ได้รับยาปฏิชีวนะในช่วง 10-20 วัน สุดท้ายของชีวิตก่อนที่จะส่งโรงฆ่าสัตว์ เพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่าจะไม่มียาปฏิชีวนะหลงเหลืออยู่ในเนื้อสัตว์ นอกจากนี้การแปรรูปเนื้อสัตว์ที่มีมาตรฐานจะมีการทำความสะอาดอย่างเพียงพอเพื่อไม่ให้มีแบคทีเรียหลงเหลืออยู่ในเนื้อสัตว์
การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ป่วยสามารถทำให้อัตราการตายของสัตว์จากโรคติดเชื้อลดลง รวมถึงลดการแพร่กระจายของโรคไปสู่มนุษย์และสัตว์อื่นๆ เช่นกัน สัตว์ป่วยที่ไม่แสดงอาการอาจทำให้เกิดอาการป่วยที่เกิดจากอาหารในมนุษย์ได้อีกด้วย ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เป็นอาหารจึงยังมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการเกษตร การเลิกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมบูรณ์จึงอาจทำให้เกิดปัญหาได้ถ้ายังไม่มีระบบการเลี้ยงที่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อ อย่างไรก็ดีเราควรลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์อย่างไม่ถูกต้องให้ได้มากที่สุด
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า เกษตรกรควรหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเป็นประจำเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต และป้องกันการเกิดโรคในสัตว์ที่มีสุขภาพดีอยู่แล้ว[6] ในกรณีที่สัตว์ป่วยแต่ไม่แสดงอาการนั้น ควรได้รับการวินิจฉัยยืนยันการติดเชื้อของสัตว์ป่วยก่อนที่จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะ
สรุป เราควรให้ความสำคัญกับการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ และควรลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ให้เหลือในปริมาณที่น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น
สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์” ได้ที่
ให้บริษัทฟาสต์ฟู้ด งดใช้ยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ (ผลิตโดย Thai PBS News วันที่ 03/10/2559)
กรมปศุสัตว์ คุมเข้มการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ + ทันกระแส SME (ผลิตโดย Smart SME TV วันที่ 01/25/2560)
เอกสารอ้างอิง
1 Arsenault, C. (2015, March 24). A huge spike in antibiotic-fed livestock is bringing the superbug epidemic even faster than feared. Retrieved from https://www.businessinsider.com/r-soaring-antibiotic-use-in-animals-fuels-super-bug-fears-2015-3
2 Baragona, S. (2015, March 30). การใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์มากขึ้นและจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยารุนแรงขึ้น. Retrieved from https://www.voathai.com/a/science-global-antibiotics-livestock-tk/2699380.html
3 Food Print Organzation. (2019). Antibiotics in Our Food System. Retrieved from http://www.sustainabletable.org/257/antibiotics
4 O'Neill, J. (2015). Antimicrobials in Agriculture and The Environment: Reducing Unnecessary Use and Waste. The Review on Antimicrobial Resistance. Retrieved from https://ec.europa.eu/health/amr/sites/amr/files/amr_studies_2015_am-in-agri-and-env.pdf
5 สสส. (2017, March 15). อาหารปลอดภัย ไร้ยาปฏิชีวนะ - Thaihealth.or.th | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). Retrieved from http://www.thaihealth.or.th/Infographic/detail/35805/อาหารปลอดภัย ไร้ยาปฏิชีวนะ/
6 WHO. (2017). Stop using antibiotics in healthy animals to preserve their effectiveness. Retrieved from https://www.who.int/news-room/detail/07-11-2017-stop-using-antibiotics-in-healthy-animals-to-prevent-the-spread-of-antibiotic-resistance