ยาต้านวัณโรค
  
คำแปล

คำนาม.  ยาที่มีความสามารถในการกำจัดหรือยับยั้งการเติบโตของเชื้อวัณโรค (ยาต้านวัณโรค=antituberculosis drug หรือ TB drug)

 

“ผู้ป่วยวัณโรคต้องรับประทานยาต้านวัณโรคให้ครบเป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน”

 

“วัณโรคดื้อยาเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งตัวผู้ป่วยเอง และผู้อื่น เนื่องด้วยผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาให้กับผู้อื่นได้ และเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาต้านวัณโรคนั้นรักษายาก มีโอกาสเสียชีวิตได้”

 

“วัณโรคที่ดื้อต่อยาหลายขนานมักเกิดในผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านวัณโรคอย่างไม่เหมาะสม เช่น ลดขนาดของยาเอง และหยุดยาเอง”

คลังการเรียนรู้

วัณโรคดื้อยา มฤตยูร้าย

 

วัณโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียวัณโรค เชื้อวัณโรคสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน ผ่านการไอ การจาม การถ่มน้ำลาย และการพูดคุย ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอชไอวี โรคเบาหวาน และคนที่สูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงสูงกว่าปกติที่จะติดเชื้อวัณโรค[1] คนที่มีอาการไอเรื้อรังนานกว่า 2 หรือ 3 สัปดาห์ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่าตนเองไม่ได้เป็นโรควัณโรค เนื่องจากอาการไอเรื้อรังเป็นอาการเบื้องต้นที่พบบ่อยที่สุดของโรควัณโรค

 

เชื้อวัณโรคดื้อยามักเกิดในผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านวัณโรคอย่างไม่เหมาะสม เช่น ลดขนาดของยาเอง และหยุดยาเอง อีกทั้งผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรคดื้อยาสามารถแพร่เชื้อดื้อยานั้นให้คนอื่นๆ ได้ ทำให้วัณโรคดื้อยาพบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ไม่สามารถรักษาวัณโรคดื้อยาเหล่านั้นได้

 

วิธีที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคดื้อยาคือ ผู้ป่วยที่เป็นโรควัณโรคต้องรับประทานยาอย่างเคร่งครัด ไม่พลาดการรับประทานยาและไม่หยุดยาเอง บุคลากรทางการแพทย์ต้องให้ข้อมูลต่อผู้ป่วยอย่างครบถ้วน จนผู้ป่วยเข้าใจอย่างแท้จริง และไม่แพร่เชื้อวัณโรคต่อให้ผู้อื่น[2] นอกจากนี้ ที่สำคัญที่สุดคือทุกคนในทุกประเทศควรร่วมมือกันดำเนินการในขณะที่ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยาหลายขนานในวงจำกัดได้ มิฉะนั้นจะมีคนจำนวนมากเสียชีวิตด้วยโรควัณโรคดื้อยามากมายในอนาคตอันใกล้ 

 

สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ยาต้านวัณโรค” ได้ที่

 

“วัณโรคดื้อยา” วิกฤตใหญ่ระดับชาติ: พบหมอรามา ช่วง Big Story 19 ม.ค.61 (3/6) (ผลิตโดย RAMA CHANNEL วันที่ 01/21/2561)
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรค (ผลิตโดย TB Thailand วันที่ 01/22/2560)

 

“วัณโรค” อยู่ร่วมกันได้ ถ้ารู้จักป้องกัน : Rama Square ช่วง นัดกับ NURSE (ผลิตโดย BRIGHT TV วันที่ 08/08/2560)

 

เอกสารอ้างอิง

1 WHO. (2018, January 18). What is TB? How is it treated? Retrieved from http://www.who.int/features/qa/08/en/

2 WebMD. (n.d.). What are the symptoms of Tuberculosis?. Retrieved from https://www.webmd.com/lung/understanding-tuberculosis-symptoms

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่