การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกัน
  
คำแปล

คำนาม. การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

“การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันมักจะกระทำก่อนการทำการผ่าตัดใหญ่ เนื่องจากการผ่าตัดใหญ่มีความเสี่ยงที่เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายในระหว่างการผ่าตัด และทำให้เกิดการติดเชื้อได้”

คลังการเรียนรู้

เหตุใดจึงควรใช้ยาปฎิชีวนะเพื่อการป้องกันในคนและสัตว์เมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น

 

ก่อนหน้านี้ยาปฎิชีวนะถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างแพร่หลายทั้งในคนและสัตว์ ตั้งแต่มีการคิดค้นยาเพนิซิลินออกในปี พ.ศ. 2471 หลักฐานทางการแพทย์พบว่าการให้ยาปฏิชีวนะสามารถลดอัตราการติดเชื้อจากแผลผ่าตัดได้เป็นอย่างมาก[1] หลังจากนั้นยาปฏิชีวนะถูกใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างกว้างขวางและขาดระบบการจัดการ เมื่อมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น การดื้อยาปฏิชีวนะและการติดเชื้อในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้น

 

เนื่องด้วยปัญหาเชื้อดื้อยาทั่วโลก ปัจจุบันยาปฎิชีวนะไม่ได้ถูกแนะนำให้ใช้ในการป้องกันการติดเชื้ออย่างแพร่หลายเหมือนในอดีต และถูกแนะนำให้ใช้ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง และให้ใช้อย่างเหมาะสมเท่านั้น เช่น ก่อนการผ่าตัดใหญ่ ยาปฏิชีวนะควรให้หนึ่งครั้งก่อนการผ่าตัดเท่านั้น เพื่อลดโอกาสการเกิดการติดเชื้อ และไม่ได้แนะนำให้ให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องหลังผ่าตัด[2] ก่อนการทำฟัน ยาปฏิชีวนะควรใช้เพื่อการป้องกันเฉพาะในผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจเทียม มีวัสดุเทียมในหัวใจ หรือเคยเป็นโรคลิ้นหัวใจอักเสบมาก่อนเป็นต้น ปัจจุบันไม่แนะนำให้กินยาปฏิชีวนะก่อนทำฟันในผู้ป่วยที่ไม่มีข้อบ่งชี้[2]

 

ในปี พ.ศ. 2560 องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้เลิกใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเร่งการเติบโต และเพื่อป้องกันการเกิดโรค ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะโดยที่ไม่มีการวินิจฉัยว่ามีการพบโรคติดเชื้อจริง[3] สัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่ควรได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดโรค

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าในประเทศที่รณรงค์ให้หยุดการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเติบโต เกษตรกรได้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเติบโต แต่ก็เปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันเพิ่มขึ้นแทน ดังนั้นปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะทางการเกษตรทั้งหมดยังคงที่หรือเพิ่มขึ้น เหมือนดังที่ปรากฏในประเทศเนเธอร์แลนด์ในอดีต[4]

 

ประเทศไทยแนะนำให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ โดยแนะนำให้ส่งเสริมสุขอนามัย การใช้วัคซีน การดูแลคอกสัตว์ และพัฒนาวิธีการดูแลสัตว์อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรค

 

เอกสารอ้างอิง

1 Westerman, E. L. (1984). Antibiotic prophylaxis in surgery: Historical background, rationa1e, and relationship to prospective payment. American Journal of Infection Control,12(6), 339-343. doi:10.1016/0196-6553(84)90007-5

2 AAE. (2017). Antibiotic Prophylaxis 2017 Update. Retrieved from https://www.aae.org/specialty/wp-content/uploads/sites/2/2017/06/aae_antibiotic-prophylaxis-2017update.pdf  

3 WHO. (2017, November 7). Stop using antibiotics in healthy animals to preserve their effectiveness. Retrieved from https://www.who.int/news-room/detail/07-11-2017-stop-using-antibiotics-in-healthy-animals-to-prevent-the-spread-of-antibiotic-resistance

4 Mevius, D., & Heederik, D. (2014). Reduction of antibiotic use in animals “let’s go Dutch”. Journal Für Verbraucherschutz Und Lebensmittelsicherheit,9(2), 177-181. doi:10.1007/s00003-014-0874-z

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่