โรคติดเชื้อ
  
คำแปล

คำนาม. โรคที่เกิดจากการที่เชื้อจุลชีพเช่นแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิตหรือพยาธิและเชื้อรา เข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายของเรา

 

“ไข้หวัดเป็นตัวอย่างของโรคติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บคอ ไอ จาม และมีไข้”

 

“การป้องกันโรคติดเชื้อเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ผู้ป่วยควรมีความรับผิดชอบในการไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น และคนทั่วไปก็ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ”

คลังการเรียนรู้

 ป้องกันตัวเองและคนที่คุณรักจากโรคติดเชื้อ

 

การติดเชื้อเกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคเข้าสู่ร่างกายของเราและเชื้อเริ่มเพิ่มจำนวน ทำให้ร่างกายของเราผิดปกติ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อสามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อก่อโรค และการรับวัคซีน[1]

 

คำแนะนำที่มีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปเพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อจากชุมชนมีดังนี้

 

#1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่เชื้อ

ทุกคนควรทราบว่าเชื้อก่อโรค สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางทุกช่องทางในร่างกายของเราเช่น ตา หู จมูก ปาก ทวาร และ ท่อปัสสาวะ และเชื้อก่อโรคสามารถเข้าผ่านทางผิวหนังของเราจากการกัดของแมลงหรือสัตว์ หรือแม้กระทั่งการสัมผัส เช่นการจับลูกบิดประตู นอกจากนี้มันยังสามารถผ่านทางอากาศที่เราหายใจ เข้าสู่ทางเดินหายใจของเรา

 

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อคือการป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายของเรา ไม่เข้าใกล้ผู้ป่วยที่แพร่เชื้อโรคได้โดยไม่จำเป็น ไม่ไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

 

#2. หมั่นล้างมือ 

การล้างมือสำคัญมากทั้งก่อนและหลังการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้ห้องสุขา

 

#3. รับวัคซีน ตามคำแนะนำ

การสร้างภูมิคุ้มด้วยการฉีดวัคซีนสามารถลดโอกาสในการเป็นโรคได้อย่างมาก การรับวัคซีนที่เหมาะสมตามเวลาและสถานการณ์เป็นสิ่งจำเป็น ผู้ใหญ่ก็มีวัคซีนที่ควรรับ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในทุกคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

 

คุณควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ว่าคุณควรรับวัคซีนใดบ้างเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง เพราะคุณอาจไม่ทราบถึงคำแนะนำในการรับวัคซีนที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

 

#4. ใช้ยาปฏิชีวนะยามจำเป็นเท่านั้น

ใช้ยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น อย่ากดดันหรือร้องขอแพทย์ให้จ่ายยาปฏิชีวนะให้ โดยไม่ฟังเหตุผล[2] หากแพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะให้ คุณควรถามว่า "ฉันต้องใช้ยาปฏิชีวนะจริงๆ ใช่ไหมค่ะ/ครับ?" เพื่อให้คุณสามารถมั่นใจในข้อบ่งชี้ในการใช้ยาปฏิชีวนะจริงๆ[3]

 

หากคุณจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ให้ใช้ยาปฏิชีวนะตามที่บุคลากรทางการแพทย์แนะนำจนครบถ้วน คุณไม่ควรหยุดยาเอง แม้ว่าอาการของคุณอาจจะดีขึ้นหรือหายเป็นปกติแล้วก็ตาม ยกเว้นกรณีที่คุณเกิดอาการแพ้ยา ซึ่งคุณควรกลับไปปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ของคุณอีกครั้งเกี่ยวกับอาการแพ้ยาและรับการรักษาต่อเนื่องถ้าจำเป็น

 

#5. พักผ่อนที่บ้านถ้าคุณมีอาการและสัญญาณของการติดเชื้อแบบไม่รุนแรง

ถ้าคุณเป็นหวัด หรือมีอาการท้องเสียไม่รุนแรง คุณไม่ควรไปทำงานหรือไปโรงเรียน เพราะคุณอาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ถ้าคุณมีอาการหวัดหรือท้องเสียรุนแรง คุณควรไปพบแพทย์

 

#6. สวมหน้ากากอนามัยเมื่อคุณป่วยและไอ หรือปิดปากทุกครั้งที่ไอและจามด้วยกระดาษทิชชู่

เมื่อคุณไอหรือจามจะมีการหลั่งของน้ำลายน้ำมูก และเชื้อไวรัสเข้าสู่อากาศ ไวรัสเหล่านี้สามารถแพร่กระจายไปยังผู้ที่อยู่รอบตัวคุณและทำให้พวกเขาป่วยได้ เมื่อคุณไม่สบายการสวมหน้ากากอนามัยเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้คุณแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังคนอื่น

 

ในหลายประเทศวัฒนธรรมของการสวมหน้ากากเมื่อป่วยยังไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากขาดการฝึกและขาดความเข้าใจว่าการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องธรรมดาที่ควรทำ คุณอาจรู้สึกไม่ค่อยสบายขณะสวมใส่แต่คุณควรสวมหน้ากากเมื่อป่วย หากทำไม่ได้อย่างน้อยคุณก็ควรปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชูเมื่อคุณจามหรือไอแล้วทิ้งไป

 

หากไม่มีกระดาษให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดจมูกและปากแทนมือขณะไอหรือจาม คุณไม่ควรไอหรือจามใส่มือของคุณ เพราะคุณจะใช้มือนั้นจับลูกบิดประตู จับราวบันได และแพร่เชื้อต่อไปให้ผู้อื่นที่สัมผัสสิ่งต่างๆ เหล่านั้นต่อจากคุณ

 

#7. ทำอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ

เมื่อทำอาหาร คุณต้องรักษาความสะอาดของบริเวณที่ใช้เตรียมอาหารรวมทั้งพื้นผิวห้องครัวและส่วนอื่นๆ ให้สะอาดเสมอ นอกจากนี้คุณควรเก็บอาหารที่เหลือไว้ในตู้เย็นทันที อย่าปล่อยไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานานเกินไป

 

#8. กินอาหารปรุงสุกและดื่มน้ำต้มสุกสะอาดเท่านั้น

การรับประทานอาหารดิบหรือผักสดที่ไม่สะอาดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาการท้องร่วงได้ ในหลายประเทศน้ำประปาอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียตามท่อได้ น้ำกรองที่ไม่ได้ผ่านเครื่องกรองที่มีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอก็มักมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเช่นกัน ดังนั้นคุณจึงควรต้มน้ำก่อนดื่ม

 

#9. หลีกเลี่ยงยุงและแมลง

ยุงและแมลงเป็นแหล่งรวมของเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และมาลาเรีย คุณควรใช้ยากันยุง และยากันแมลงทาผิวหนังในระหว่างทำกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณที่มีความเสี่ยง คุณควรกำจัดน้ำท่วมขัง แหล่งลูกน้ำยุงลาย บริเวณบ้านของคุณเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงแพร่พันธุ์ และกำจัดหนูออกจากบริเวณบ้านของคุณ

 

#10. ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

คุณสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หากรู้จักยับยั้งชั่งใจ และป้องกันให้ถูกวิธี การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศได้

 

หากคุณไม่ได้ใช้ถุงยาง คุณและคู่ของคุณควรรับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ  

 

 

สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "โรคติดเชื้อ" ได้ที่

 

หน้ากากป้องกันโรค สำคัญอย่างไร? สคร.5 นครราชสีมา (ผลิตโดย สํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา วันที่ 03/31/2558)
Rama Channel | ใส่หน้ากากอนามัยอย่างไรให้ถูกวิธี | ก.ค. 58 (ผลิตโดย RAMA CHANNEL วันที่ 07/23/2558)

 

การล้างมือที่ถูกวิธี (ผลิตโดย Siriraj Pr วันที่ 09/04/2555)
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ผลิตโดย รู้กัน ทันโรค วันที่ 04/01/2561)

 

เอกสารอ้างอิง

1 Mayo Clinic. (2017, March 08). Germs: Protect against bacteria, viruses and infection. Retrieved from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infectious-diseases/in-depth/germs/art-20045289

2 Knapton, S. (2015, August 18). 'Soft touch' doctors should be disciplined for over-prescribing antibiotics. Retrieved from https://www.telegraph.co.uk/news/science/science-news/11808015/Soft-touch-doctors-should-be-disciplined-for-over-prescribing-antibiotics.html

3 Laliberte, M. (n.d.). 12 Essential Questions to Ask Your Doctor Before Taking Antibiotics. Retrieved from https://www.rd.com/health/conditions/antibiotics-side-effects-questions/#card-1/

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่